เส้นทางบิณฑ (บาตร) ...
ตอนที่ 2
เส้นทางแห่งการรอคอย –
บ้านผู้ใหญ่อ้อย และโยมจินดา
มีบางครั้งที่พระในเส้นทางนี้เดินบิณฑบาตรก่อนเป็นลำดับต้นๆ
แต่กลับมาถึงวัดเป็นลำดับท้ายๆ เพราะนี่คือเส้นทางแห่งการรอคอย
แม้เส้นทางจะไม่สลับซับซ้อน แวะรับบาตรเพียงบ้าน 2 หลัง เริ่มจากหน้าวัด เลี้ยวขวา
เดินเรื่อยไปจนถึกโค้งไร่สับปะรด เลี้ยวซ้าย ข้ามสะพาน จากนั้นเลี้ยวซ้าย
เข้าสวนมังคุด จนพบอุปสรรคด่านแรกนั่นก็คือ รังมดคันไฟ ที่คันสมชื่อจริงๆ ครั้นจะบี้ก็ไม่กล้ากลัวอาบัติ
จนได้แต่ฝืนเดินยุกยิกจนถึงหน้าบ้านโยม แต่แล้วก็มาพบอุปสรรคด่านที่2 นั่นก็คือ
น้องหมาเจ้าถิ่นที่ดูจะยังไม่คุ้นกับพระใหม่อย่างเรา แต่ยังดีที่โยมผู้ใหญ่อ้อยออกมาพอดี
แล้วพูดห้ามไว้ จนรอดไปได้อีกวันหนึ่ง เสร็จแล้วก็วกกลับทางเดิม
ทีนี่ดูจะมีทักษะมากขึ้นในการสังเกตุว่า จะเดินอย่างไรไม่ให้โดนรังมดคันไฟ
จนกระทั่งมาถึงบ้านตรงกันข้าม ที่มีประตูรั้วเหล็กปิดอยู่ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรอคอยขั้นที่1
ที่ประตูหน้าบ้านโยมจินดา จนกระทั่งพระอีกสายหนึ่งเดินผ่านเราไป แล้วซักพักหนึ่งประตูรั้วก็ถูกเปิดออก
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรอคอยขั้นที่1 ที่หน้าโรงรถบ้านโยมจินดา จนกระทั่งพระอีกสายหนึ่งเดินกลับวัด
แล้วซักพักหนึ่งหญิงชราวัยไม่ต่ำกว่า 70 ปี พร้อมทั้งสายตาที่ฝ้าฟาง
มาพร้อมกับชายวัยกลางคนคาดว่าน่าจะเป็นลูกชาย ในมือมีขันข้าว พร้อมถุงแกง หรือขนม
ยอมรับว่าบางครั้งก็รู้สึกเบื่อบ้างที่ต้องรออะไรนานๆ
แต่เมื่อทราบภายหลังว่าที่ช้าขนาดนี้ เจตนาของโยมตั้งแต่เมื่อร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่
คือโยมตั้งใจจะให้พระท่านได้รับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ อาหารที่ปรุงเสร็จร้อนๆ จนครั้นเมื่อแก่ชราลงก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม
แต่อาจช้าลงเนื่องด้วยสภาพร่างกาย แม้เส้นทางบิณฑบาตรนี้จะได้ของไม่มากมายนัก
อาจเป็นข้าวเพียงทัพพีเดียว แต่มันก็เต็มไปด้วยความตั้งใจ และศรัทธา
เส้นทางประจำ –
มาบจันทร์ไกลฝั่งขวา และซ้าย
จะเรียกว่าเป็นเส้นทางประจำเลยก็ว่าได้
เพราะเดินเส้นทางนี้บ่อยสุด อธิบายได้ง่ายๆคือ
เดินต่อจากบ้านโยมจินดามาซัดพักหนึ่งก็จะพบร้านค้าใหญ่ขนาบซ้าย-ขวา พระท่านจะแบ่งสายเป็น
2 ฝั่งคือฝั่งซ้าย (ประมาณ 2 บ้าน) และฝั่งขวา (ประมาณ 3 บ้าน)
แต่ที่น่าจดจำคือบ้านหลังสุดท้าย ขวามือที่ใส่บาตรอย่างอุกฤษณ์(คำพระ
แปลว่าขั้นสุด)เกือบทุกวัน เรียกได้ว่าข้าว ปลา อาหาร น้ำดื่มสมบูรณ์
แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักที่มาก จนกว่าจะเดินกลับถึงวัด
เส้นทางอุ่นใจ – บ้านป่าสัก
ในช่วงเข้าพรรษา
พระภิกษุจะจำพรรษาอยู่ได้เฉพาะวัดใดวัดหนึ่ง เว้นแต่เหตุจำเป็น
แต่จะต้องกลับมาจำพรรษาที่วัดภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน
โดยช่วงนี้ที่วัดสาขาหนองป่าพงจะเคร่งครัดมาเป็นพิเศษ คือจะเพิ่มการสมาทานถือวัตรปฏิบัติพิเศษตลอดช่วงเข้าพรรษา
หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น การภาวนาทั้งคืนโดยไม่นอน(เนสัชชิก) การงดพูด(มุกขวัตร)
การงดอาหาร การฉันมังสวิรัติ การกำหนดคำข้าว รวมทั้งการฉันตกบาตร(ฉันเฉพาะที่หามาได้
ไม่พิจารณาเพิ่ม) ซึ่งพระใหม่อย่างเราดูยังไม่ค่อยจะเข้าใจการสมาทานสักเท่าไหร่
จึงยังไม่ได้สมาทานอะไรเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าข้อวัตรปกติ ยังจะทำให้ครบก็ยากแล้ว
แต่แล้วเมื่อพระส่วนใหญ่ถือปฏิบัติกันบางก็เคร่งบ้าง เช่น อดอาหารอาทิตย์เว้นอาทิตย์
ถือเนสัชชิกในวันพระ ฉันข้าวกับผลไม้ แต่ที่เห็นว่าพอถือปฏิบัติได้คือการ “ฉันตกบาตร”
เส้นทางสาย “บ้านป่าสัก”
ถูกเลือกให้เป็นเส้นทางประจำของพระที่สมาทานฉันตกบาตร
ซึ่งตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไม จนกระทั่งได้ขอโอกาสมาเดินเส้นทางนี้
พร้อมทั้งสมาทานฉันตกบาตรด้วย เริ่มจากปากทางเข้าวัด แล้วเลี้ยวซ้าย ผ่านป่ายางพาราไปซักพักก็ได้พบกับภาพประทับใจ
เบื้องหน้าคือทุ่งโล่งกว้าง มีกระท่อมหลังล็กอยู่กลางทุ่ง
ตัดกับร่มเงาของป่ายางพารา และมีทิวเขายายดาเป็นพื้นหลัง ประกอบกับแสงแดดอ่อนๆ
อากาศเย็นๆ ในยามเช้า ดูแล้วมันช่างคล้ายกับบรรยากาศหมู่บ้านในชนบทเสียมากกว่า
เราเดินไปสักพักจึงเลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้าน จนพบกับความประหลาดใจ
เพราะจากที่เดินเส้นทางสายอื่นมาแล้ว กว่าจะมีบ้านโยมใส่บาตรสักหลังหนึ่งก็ใช้เวลาเดินแสนนาน
ในระยะทางเกือบ 3 กม.มีเพียงหลัง 2หลัง บางก็ได้บาตรเปล่าบ้างก็มี ผิดกับที่ “บ้านป่าสัก”
ที่บ้านเกือบทุกหลังจะต้องใส่บาตร
เราเลยอุ่นใจได้ว่าวันนี้จะไม่อดแน่ๆเมื่อฉันตกบาตร ที่นี้จึงรู้แล้วว่าทำไม
ต้องจัดพระที่สมาทานฉันตกบาตรให้มาเส้นทางนี้
จากการที่ได้ทดลองฉันตกบาตรมาช่วงเวลาหนึ่ง
จำเป็นต้องข่มใจตัวเองอย่างมากไม่รับอาหารเพิ่มเติม
ในขณะที่เพื่อนพระลุกขึ้นไปพิจารณาอาหาร เรากลับต้องนั่งนิ่งอยู่กลับที่
ต่อสู้กับกิเลสความอยากกินโน่นกินนี่อยู่ตลอด ก็มีทั้งข่มได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
เอาเป็นว่าเราได้มีโอกาสเรียนรู้การข่มกิเลสในรูปแบบหนึ่งที่ไม่เกินกำลังเราจนเกินไปนัก
และได้เรียนรู้ว่า ร่างกายเรากินแค่เพื่ออยู่ แต่ที่อยากโน่นอยากนี่
อันนี้มันเรื่องของกิเลสล้วนๆ