Wednesday, December 10, 2014

อ่าน อิฐ โดย นิ้วกลม


นี่ก็เป็นอีกเล่มหนึ่งที่เซอร์ไพรซไม่คิดว่าจะได้อ่านที่ห้องสมุดของวัดมาบจันทร์ "อิฐ" โดย นิ้วกลม ที่อยากอ่านมานาน เพราะได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับความแนวของหนังสือเล่มนี้ นี้อาจจะไม่ใช้หนังสือธรรมะซะทีเดียว แต่แน่นอนหนังสือเล่มนี้จะกระตุ้นแรงบรรดาลใจให้คุณทำอะไรได้อีกหลายอย่างแน่ๆ เริ่มตั้งแต่รูปเล่มและหน้าปกที่เลียนแบบ อิฐ ไปจนถึงการออกแบบจัดวางเนื้อหาที่ทำให้อ่านสนุก แอบขำ อมยิ้มได้บ้าง อย่างตอนความเคยชิน ที่น่าจะเป็นต้นแบบของภาษาสก๊อย หรือบางตอนที่ใช้คำผวนหมด อ่านแล้วแปลกพิลึก อาจจะมีเนื้อหาธรรมะไม่ได้เข้มข้นมาก แต่ก็สอดแทรกข้อคิดเกี่ยวกับ ความเชื่อ ความยึดติด ตามหลักกาลามสูตรไว้ด้วย

อ่าน OSHO คุรุวิพากษ์คุรุ แปลโดย โตมร ศุขปรีชา


ไม่น่าเชื่อว่าจะได้อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอย่างตรงไปตรงมาได้ในวัด เล่มนี้ยืมมาจากห้องสมุดของวัดมาบจันทร์ วางซ่อนอยู่ในชั้นล่างๆเลยไม่มีใครสนใจมากนัก แต่เปิดอ่านครั้งแรกถึงกับสะอึกเพราะเขียนถึงศาสดาในศาสนาต่างๆได้อย่างตรงไป ตรงมา ท้าทายกับความเชื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซู ถ้าหากชาวคริสต์หัวรุนแรงมาอ่านอาจทำให้เกิดสงครามได้เลยทีเดียว สำหรับบุคคลที่นำมาวิพากษ์เริ่มตั้งแต่นักปราชญ์ยุคกรีกโบราณ จีนโบราณ เรื่อยมาจนกวี และนักจิตวิทยาในปัจจุบัน สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้านั้น OSHO มีมุมมองเป็นบวก แต่ก็ตั้งแง่เกี่ยวกับชาติกำเนิดของพระองค์ที่เป็นกษัตริย์ เขากำลังสื่อว่า หานักปราชญ์ ศาสดาที่เริ่มจากคนธรรมดาได้ยากจริงๆ คนเหล่านี้ใกล้แหล่งความรู้ บ้างก็เบื่อหน่ายจากความสะดวกสบาย จนมองหาชีวิตธรรมดา

นอกจากสำนวนการเขียนหรือการแปลที่ค่อนข้างเหวิ่นเว้อในบางช่วง การอ่านหนังสือเล่มนี้ต้องเปิดใจกว้างให้มาก เพราะถ้าคุณตั้งข้อโต้แย้งให้กับศาสดา หรือปราชญ์ที่คุณชอบแล้ว คุณจะอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่สนุก เพราะนี้คือหนังสือที่กล้าวิจารณ์บุคคลที่ถูกยกย่องให้เป็นพระเจ้า ที่คนกราบไว้ ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์เท่าเทียมกัน แต่ก็ยังยกย่องแนวทางปฏิบัติที่ดีงามของปราชญ์เหล่านั้นในขณะเดียวกัน


อ่าน คู่มือมนุษย์ ของท่านพุทธทาส


นอกจากหนังสือเล่มนี้จะเป็นหนังสือแนะนำในคู่มือพระใหม่ของวัดมาบจันทร์แล้ว ในความสนใจส่วนตัวก็ชื่นชมผลงานธรรมล้ำสมัยของท่านพุทธทาสพอสมควร เรายืมหนังสือเล่มนี้มาจากห้องสมุดของวัดโดยมีทั้งแบบสมบูรณ์ เล่มหนาเตอะ และแบบย่อ เล่มเล็กเบาบาง เราเลือกอ่านแบบย่อ แต่ถึงแม้ว่าเป็นแบบย่อก็ยังคงเนื้อหาหนักหน่วงตั้งแต่ต้นเล่ม ตั้งแต่ ท่านชอบศาสนาในเหลี่ยมมุมใน การวิจารณ์ความผิดเพี้ยนของพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน(เมื่อ 50ปีก่อน ปัจจุบัน ปี2557ก็ยังงมงายเหมือนเดิม) อธิบายความหมายของขันธ์5 และอุปาทานต่างๆ และเนื้อหาหลักของหนังสือคือ ลำดับขั้นของการบรรลุธรรม ตั้งแต่โสดาบัน เรื่อยไปจนถึงอรหันต์ โดยส่วนใหญ่ใช้ศัพท์บาลีค่อนข้างมาก จนทำให้เราเข้าใจได้บ้างบางช่วง บางตอน สำหรับการอ่านในครั้งแรก

จนได้มาอ่านครั้งที่สอง เมื่อภาวนาได้ชั่วระยะหนึ่งจนเกิดความรู้สึกดีอย่างประหลาดจนได้อ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง จนพบว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการทำสมาธิ และเราอย่าได้หลงความรู้สึกนี้เป็นอันขาด เพราะนี้เป็นเพียงประตูด่านแรกกว่าเราจะไปถึงนิพพานเราต้องผ่านอุปสรรค์อีกหลายอย่าง นี่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนความคิดครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้ จากที่ไม่เชื่อว่าแค่นั่งเฉยๆ มันจะไปนิพพานได้อย่างไร จนได้ค้นพบด้วยตัวเอง สมกับชื่อหนังสือแล้วแหละที่ว่า "คู่มือมนุษย์" เพราะหนังสือคู่มือส่วนใหญ่ใช้ประกอบการปฏิบัติเสมอ เช่น คู่มือช่างแอร์ คู่มือทำกับข้าว ถ้าหากเราไม่เคยสัมผัสว่าแอร์มันเย็นอย่างไร เราคงซ่อมมันไม่ได้เป็นแน่


อ่าน สัมมาทิฏฐิฯ ของ สมเด็จพระญาณสังวร



หนังสือเล่มนี้พบอยู่ในกล่องพลาสติกที่กุฏิหมายเลข 48 เป็นหนังสือปกแข็ง หนาหลายร้อยหน้า มีหน้าปกว่า"สัมมาทิฎฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จากความหนาและชื่อหนังสือที่ยาก แต่ถ้าใครมีความสนใจวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา หรือเชื่อในหลักเหตุผล คุณจะไม่เชื่อว่าสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ได้จนจบ เนื้อหาหลักอธิบายเกี่ยวกับ "ปฏิจจสุมุปบาท" ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น ตั้งแต่อธิบายส่วนประกอบของจิตว่าเป็นอย่างไร เวทนา สังขาร วิญญาณ คืออะไร ธรรมชาติของกาลเวลา ชาติ ภพ และทุกข์เกิดจากอะไร และทำอย่างไรเราจะดับทุกข์ได้ โดยเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามลักษณะการแสดงธรรมของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งท่านมีความสามารถแสดงธรรมให้เหมาะกับแต่ละบุคคล คือ อธิบายอย่างละเอียดแบบ1 อธิบายโดยพิศดารอีกแบบ1 แต่ทั้งสองส่วนมีบทสรุปเดียวกันคือ ให้ผู้อ่านมี "สัมมาทิฎฐิ"คือความเห็นชอบ ซึ่งเป็น1ในอริยมรรคมีองค์8

ความประทับใจส่วนตัว เมื่ออ่านถึงช่วงที่อธิบายเกี่ยวกับ "ผัสสะ" แล้วพบว่าตรงกับหลักชีววิทยาในปัจจุบันมาก แต่พุทธศาสนาที่มีอายุกว่า 2500 ปีสามารถให้คำตอบได้ ก่อนที่จะสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้เสียอีก ในวิทยาศาสตร์เราคงรู้จักวัฏจักรคาร์บอน วัฏจักรไฮโดรเจน แต่หนังสือเล่มนี้สามารถอธิบายเกี่ยวกับวงจรของจิตได้ เช่น การสะสมบารมีให้เต็มที่เพื่อจะหลุดจากอวิชชา ตัณหา อุปทาน เมื่อเข้าใจจุดนี้แล้ว เราจะไม่สงสัยเลยว่าตายแล้วไปไหน รวมทั้งความหมายของ ภพ กับชาติ ที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าต้องตายไปก่อน ถีงจะเกิดชาติหน้า แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เพราะชาติ ภพ คือการเกิดของอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิด ดับ อยู่ตลอดเวลาในชั่วขณะหนึ่ง จนทำให้เราพบว่าการหลุดพ้นจากการเกิด การตายนี้ เป็นสุขอย่างยิ่ง

สำหรับใครที่อยากอ่าน มีผู้ใจบุญให้ download หนังสือเล่มนี้ได้ที่ ขออนุโมทนา สาธุด้วยครับ

Tuesday, September 2, 2014

เส้นทางบิณฑ (บาตร) ... ตอนที่ 2



เส้นทางบิณฑ (บาตร) ... ตอนที่ 2
เส้นทางแห่งการรอคอย – บ้านผู้ใหญ่อ้อย และโยมจินดา
               มีบางครั้งที่พระในเส้นทางนี้เดินบิณฑบาตรก่อนเป็นลำดับต้นๆ แต่กลับมาถึงวัดเป็นลำดับท้ายๆ เพราะนี่คือเส้นทางแห่งการรอคอย แม้เส้นทางจะไม่สลับซับซ้อน แวะรับบาตรเพียงบ้าน 2 หลัง เริ่มจากหน้าวัด เลี้ยวขวา เดินเรื่อยไปจนถึกโค้งไร่สับปะรด เลี้ยวซ้าย ข้ามสะพาน จากนั้นเลี้ยวซ้าย เข้าสวนมังคุด จนพบอุปสรรคด่านแรกนั่นก็คือ รังมดคันไฟ ที่คันสมชื่อจริงๆ ครั้นจะบี้ก็ไม่กล้ากลัวอาบัติ จนได้แต่ฝืนเดินยุกยิกจนถึงหน้าบ้านโยม แต่แล้วก็มาพบอุปสรรคด่านที่2 นั่นก็คือ น้องหมาเจ้าถิ่นที่ดูจะยังไม่คุ้นกับพระใหม่อย่างเรา แต่ยังดีที่โยมผู้ใหญ่อ้อยออกมาพอดี แล้วพูดห้ามไว้ จนรอดไปได้อีกวันหนึ่ง เสร็จแล้วก็วกกลับทางเดิม ทีนี่ดูจะมีทักษะมากขึ้นในการสังเกตุว่า จะเดินอย่างไรไม่ให้โดนรังมดคันไฟ จนกระทั่งมาถึงบ้านตรงกันข้าม ที่มีประตูรั้วเหล็กปิดอยู่ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรอคอยขั้นที่1 ที่ประตูหน้าบ้านโยมจินดา จนกระทั่งพระอีกสายหนึ่งเดินผ่านเราไป แล้วซักพักหนึ่งประตูรั้วก็ถูกเปิดออก และนี่คือจุดเริ่มต้นของการรอคอยขั้นที่1 ที่หน้าโรงรถบ้านโยมจินดา จนกระทั่งพระอีกสายหนึ่งเดินกลับวัด แล้วซักพักหนึ่งหญิงชราวัยไม่ต่ำกว่า 70 ปี พร้อมทั้งสายตาที่ฝ้าฟาง มาพร้อมกับชายวัยกลางคนคาดว่าน่าจะเป็นลูกชาย ในมือมีขันข้าว พร้อมถุงแกง หรือขนม ยอมรับว่าบางครั้งก็รู้สึกเบื่อบ้างที่ต้องรออะไรนานๆ แต่เมื่อทราบภายหลังว่าที่ช้าขนาดนี้ เจตนาของโยมตั้งแต่เมื่อร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ คือโยมตั้งใจจะให้พระท่านได้รับข้าวที่หุงสุกใหม่ๆ อาหารที่ปรุงเสร็จร้อนๆ จนครั้นเมื่อแก่ชราลงก็ยังคงปฏิบัติเช่นเดิม แต่อาจช้าลงเนื่องด้วยสภาพร่างกาย แม้เส้นทางบิณฑบาตรนี้จะได้ของไม่มากมายนัก อาจเป็นข้าวเพียงทัพพีเดียว แต่มันก็เต็มไปด้วยความตั้งใจ และศรัทธา

เส้นทางประจำ – มาบจันทร์ไกลฝั่งขวา และซ้าย
          จะเรียกว่าเป็นเส้นทางประจำเลยก็ว่าได้ เพราะเดินเส้นทางนี้บ่อยสุด อธิบายได้ง่ายๆคือ เดินต่อจากบ้านโยมจินดามาซัดพักหนึ่งก็จะพบร้านค้าใหญ่ขนาบซ้าย-ขวา พระท่านจะแบ่งสายเป็น 2 ฝั่งคือฝั่งซ้าย (ประมาณ 2 บ้าน) และฝั่งขวา (ประมาณ 3 บ้าน) แต่ที่น่าจดจำคือบ้านหลังสุดท้าย ขวามือที่ใส่บาตรอย่างอุกฤษณ์(คำพระ แปลว่าขั้นสุด)เกือบทุกวัน เรียกได้ว่าข้าว ปลา อาหาร น้ำดื่มสมบูรณ์ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักที่มาก จนกว่าจะเดินกลับถึงวัด

เส้นทางอุ่นใจ – บ้านป่าสัก
          ในช่วงเข้าพรรษา พระภิกษุจะจำพรรษาอยู่ได้เฉพาะวัดใดวัดหนึ่ง เว้นแต่เหตุจำเป็น แต่จะต้องกลับมาจำพรรษาที่วัดภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยช่วงนี้ที่วัดสาขาหนองป่าพงจะเคร่งครัดมาเป็นพิเศษ คือจะเพิ่มการสมาทานถือวัตรปฏิบัติพิเศษตลอดช่วงเข้าพรรษา หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง เช่น การภาวนาทั้งคืนโดยไม่นอน(เนสัชชิก) การงดพูด(มุกขวัตร) การงดอาหาร การฉันมังสวิรัติ การกำหนดคำข้าว รวมทั้งการฉันตกบาตร(ฉันเฉพาะที่หามาได้ ไม่พิจารณาเพิ่ม) ซึ่งพระใหม่อย่างเราดูยังไม่ค่อยจะเข้าใจการสมาทานสักเท่าไหร่ จึงยังไม่ได้สมาทานอะไรเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าข้อวัตรปกติ ยังจะทำให้ครบก็ยากแล้ว แต่แล้วเมื่อพระส่วนใหญ่ถือปฏิบัติกันบางก็เคร่งบ้าง เช่น อดอาหารอาทิตย์เว้นอาทิตย์ ถือเนสัชชิกในวันพระ ฉันข้าวกับผลไม้ แต่ที่เห็นว่าพอถือปฏิบัติได้คือการ “ฉันตกบาตร”
          เส้นทางสาย “บ้านป่าสัก” ถูกเลือกให้เป็นเส้นทางประจำของพระที่สมาทานฉันตกบาตร ซึ่งตอนแรกก็ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไม จนกระทั่งได้ขอโอกาสมาเดินเส้นทางนี้ พร้อมทั้งสมาทานฉันตกบาตรด้วย เริ่มจากปากทางเข้าวัด แล้วเลี้ยวซ้าย ผ่านป่ายางพาราไปซักพักก็ได้พบกับภาพประทับใจ เบื้องหน้าคือทุ่งโล่งกว้าง มีกระท่อมหลังล็กอยู่กลางทุ่ง ตัดกับร่มเงาของป่ายางพารา และมีทิวเขายายดาเป็นพื้นหลัง ประกอบกับแสงแดดอ่อนๆ อากาศเย็นๆ ในยามเช้า ดูแล้วมันช่างคล้ายกับบรรยากาศหมู่บ้านในชนบทเสียมากกว่า เราเดินไปสักพักจึงเลี้ยวขวาเข้าหมู่บ้าน จนพบกับความประหลาดใจ เพราะจากที่เดินเส้นทางสายอื่นมาแล้ว กว่าจะมีบ้านโยมใส่บาตรสักหลังหนึ่งก็ใช้เวลาเดินแสนนาน ในระยะทางเกือบ 3 กม.มีเพียงหลัง 2หลัง บางก็ได้บาตรเปล่าบ้างก็มี ผิดกับที่ “บ้านป่าสัก” ที่บ้านเกือบทุกหลังจะต้องใส่บาตร เราเลยอุ่นใจได้ว่าวันนี้จะไม่อดแน่ๆเมื่อฉันตกบาตร ที่นี้จึงรู้แล้วว่าทำไม ต้องจัดพระที่สมาทานฉันตกบาตรให้มาเส้นทางนี้
               จากการที่ได้ทดลองฉันตกบาตรมาช่วงเวลาหนึ่ง จำเป็นต้องข่มใจตัวเองอย่างมากไม่รับอาหารเพิ่มเติม ในขณะที่เพื่อนพระลุกขึ้นไปพิจารณาอาหาร เรากลับต้องนั่งนิ่งอยู่กลับที่ ต่อสู้กับกิเลสความอยากกินโน่นกินนี่อยู่ตลอด ก็มีทั้งข่มได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เอาเป็นว่าเราได้มีโอกาสเรียนรู้การข่มกิเลสในรูปแบบหนึ่งที่ไม่เกินกำลังเราจนเกินไปนัก และได้เรียนรู้ว่า ร่างกายเรากินแค่เพื่ออยู่ แต่ที่อยากโน่นอยากนี่ อันนี้มันเรื่องของกิเลสล้วนๆ

Saturday, July 19, 2014

ยินดีในเสนาสนะที่จัดให้?

ยินดีในเสนาสนะที่จัดให้?

หลังจากรอมาสักพักให้พระชุดเก่าที่ไม่ได้อยู่จำพรรษาสึกออกไปก็ได้พักในกุฎิส่วนตัวหลังแรก กุญแจที่ได้รับระบุหมายเลข 26 สอบถามเส้นทางคร่าวๆ รู้ว่าอยู่ใกล้กับหอฉันหน้าวัด ทันใดนั้นจึงเก็บสัมพาระอันน้อยนิดเตรียมตัวย้ายเข้าไปกุฎิหลังใหม่ ในใจตื่นเต้นมากเพราะจะเป็นคืนแรกที่ต้องจำวัดโดยลำพัง ว่าแต่กุฎิ26 อยู่ไหนเนี่ย เห็นแต่กุฎิ24 กับ 25 นี่เดินวนมาหลายรอบแล้วนะ ทำไมยังหาไม่เจออีก เดินไปเดินมาจนเจอแผนผังของวัดที่ไม่เคยได้สนใจดูมาก่อนก็ทำให้รู้ว่า มันมีทางเดินขึ้นไปอีกระหว่างกุฎิ24 และ25

แต่ทว่า.......ไหนล่ะทางเดิน?

เนี่ยนะ! ช่วงนั้นมีใบปาล์มหล่นมาขวางทางพอดี ทำให้มองไม่เห็นทางเดินขึ้นไป แต่ถึงเห็นทางก็ไม่คิดว่าจะมีกุฎิอยู่ด้านบน เพราะมันช่างชันและรก มีทั้งเถาวัลย์ ทั้งรากไม้ระโยงระยาง เต็มไปหมด แต่เอาน่านึกออกได้อย่างเดียวว่า ยินดีในเสนาสนะที่จัดให้ ตามคำแนะนำในหนังสือคู่มือพระใหม่ท่านว่าไว้ จึงพอมีกำลังใจเดินขึ้นไปพร้อมอาการหอบแฮ่กๆ และนี่คือภาพที่เห็นตรงหน้า

อาคารไม้ใต้ถุนสูงดูอายุน่าจะเก่าแก่ แต่ยังคงรักษาสภาพให้ใช้การได้ ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในป่าอันสงัด นี่มันช่างเป็นบรรยากาศที่เหมาะสำหรับปลีกวิเวกที่จะพักผ่อน ไม่ใช่สิสำหรับการภาวนาเสียจริง






แต่เดี๋ยวก่อน.........ก่อนจะขึ้นไปถึงกุฎิ  เอ๊ะนี่มันตัวอะไรล่ะเนี่ย!


ภาพที่เห็นคือกองทัพมดยักษ์ ที่มีลำตัวใหญ่กว่ามดคันไฟเล็กน้อย แต่หัวกับปากทรงกรรไกรของมันนี่สิ ซึ่งใหญ่กว่าตัวมันเกือบ 2 เท่าเห็นจะได้ ในหัวตอนนี้มีแต่คำถาม แล้วเราจะขึ้นไปได้อย่างไรล่ะ? แล้วตอนเช้าล่ะ เราจะเหยียบมันมั้ย? โห้! นี่เราจะอยู่ที่นี่ได้นานมั้ย? เอาล่ะ! ตัดสินใจกระโดดข้ามมัน ผ่านการคำนวณเส้นทางที่เห็นว่าลัดสั้นที่สุด โอ้ย! พลาด! โดนมันกัดจนได้ เจ็บจี๊ดแบบสุดๆ แต่นึกขึ้นได้ว่าเป็นพระฆ่าสัตว์ไม่ได้ ได้แต่จับมันสลัดไปให้พ้นจากตัว
 เห้อ! ในที่สุดก็ผ่านมันไปได้ มือก็รีบขว้าเข้าไปหากุญแจ เพื่อจะเก็บสัมภาระ เก็บกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อย แล้วพักผ่อนสักครู่ จนกระทั่ง....



เสียงระฆังแหว่วๆดังแผ่วมาแต่ไกล แสดงถึงความวิเวกของกุฏิหมายเลข26 ได้เป็นอย่างดี เวลานี้คือเวลาบ่าย 3 โมงคือเวลาที่พระทุกรูปจะต้องปฏิบัติกิจส่วนรวม ตามแต่ได้รับมอบหมายในแต่ละพื้นที่ โดยเราได้รับมอบหมายให้ดูแลโบสถ์ซึ่งอยู่บนเนินเขาท้ายวัด แต่นี่เราอยู่บริเวณหน้าวัด ทางลัดที่ใกล้ที่สุดก็คือการเดินเลาะป่า ผ่านโรงย้อม แต่เส้นทางนี้ต้องขึ้นบันไดไปอีกหลายขั้น แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว แต่ก่อนเราจะไปถึงโบสถ์ได้นั้น เราต้องผ่านกองทัพมดยักษ์ให้ได้เสียก่อน.............แล้วก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนกระทั่งกลับมาจากทำกิจส่วนรวม และฉันน้ำปานะแล้วเสร็จก็ใกล้เย็น แต่กองทัพมดยักษ์ยังไม่ไปไหน จะมืดแล้วทำไงดี?


Monday, July 7, 2014

จีวร


จีวร

ตอนสมัยเป็นฆราวาสเนี่ย ตื่นเช้ามาก็ต้องมีเรื่องให้ต้องคิดอยู่เรื่อย หนึ่งในนั้นเห็นจะเป็น คิดว่าวันนี้จะใส่ชุดอะไรดี แต่เมื่อเป็นพระสิ่งเดียวที่ได้รับคือผ้าไตรจีวร ซึ่งประกอบไปด้วย ผ้าจีวร, สบง(ผ้านุ่ง) และสังฆาฏิ(ผ้าห่ม คล้ายจีวรซ้อนกัน 2 ชั้น) พร้อมด้วยผ้าบริขารอื่นๆ คือ ผ้าอาบ ใช้นุ่งแทนกางเกงชั้นใน หรือใส่ทำงาน 3 ผืน, รัดประคด ใช้แทนเข็มขัด, อังสะ ใช้แทนเสื้อกล้าม, ผ้ารองนั่ง, ผ้าเช็ดบาตร และย่าม ของใช้จำพวกผ้าหลักๆก็มีเพียงเท่านี้ เนื่องด้วยผ้ามีจำนวนน้อย เราจึงจำเป็นต้องซักเพื่อใช้สลับผลัดเปลี่ยนกันไป ทั้งยังต้องซักมือ และตากแดดธรรมชาติ ยิ่งช่วงเข้าพรรษาด้วยแล้ว ยิ่งฝนตกชุก อะไรๆก็ไม่แน่นอน ตอนเช้าซักผ้าแดดแจ๋ บ่ายมาเมฆครื้มเก็บผ้าแทบไม่ทัน แต่ยังดีที่ผ้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะ จีวร เป็นผ้าเนื้อละเอียด บางเบา แห้งเร็ว (ยกเว้นสังฆาฎิที่หนา แต่ซักนานๆครั้ง) จีวรนี้แหละที่เรียกว่าเป็นเครื่องแบบหลักของพระ เพราะใช้เกือบตลอดเวลา มีวิธีนุ่งต่างกันตามแต่ละโอกาส ดังนี้
1.)  ห่มดอง – ใช้เฉพาะงานบวช, ร่วมงานประชุมกับคณะสงฆ์อื่น หรือพระราชพิธีในเมือง (พระมหานิกายหรือวัดบ้าน ส่วนใหญ่นุ่งแบบนี้) คือการพับจีวรเป็นจีบๆ พาดสังฆาฏิ แล้วใช้ผ้ารัดอกมัดให้แน่น
2.)  ห่มคลุม – ใช้เดินบิณฑบาตร, ออกเดินทาง หรือโดยสารด้วยยานพาหนะ จะปกปิดตตั้งแต่คอ ใหล่ทั้ง 2 ข้าง เรื่อยมาจนถึง หน้าแข้ง
3.)  ห่มเฉวียงบ่า – ใช้ในพิธีทั่วไปในวัด หรือรับแขกแบบไม่เป็นทางการ
4.)  ห่มเฉวียงบ่า พาดสังฆาฏิ – ใช้ทำวัตรเช้า-เย็น ทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือสวดปาติโมกข์

เราฝึกนานกว่าสัปดาห์กว่าจะห่มคลุมเพื่อออกบิณฑบาตรได้ทันพระรุ่นพี่ กว่าจะห่มเฉวียงบ่าได้แน่นกระชับตัว โดยผ้าไม้หลุด การนุ่งที่ว่านี้อยู่ที่การม้วนจีวรแล้วสะบัดให้ถูกที่ ถูกจังหวะเท่านั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก



สีของจีวร
เคยสงสัยไหมว่าทำไมสีของจีวรพระไม่เหมือนกัน บ้างก็เหลืองสด บ้างก็หม่นๆ ถ้าแบ่งอย่างคร่าวๆคงแบ่งได้จากคณะสงฆ์ไทยหลัก 2 นิกาย คือ
1.)  มหานิกาย – คือพระส่วนใหญ่ของประเทศ (คำว่ามหา แปลว่าส่วนใหญ่) หรือที่เราเรียกว่าวัดบ้าน(คามวาสี) มีหน้าที่หลักคือเป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา ดูแลตำราวิชาการ การศึกษาทางปริยัติ เรียกว่า คันถธุระ ส่วนใหญ่จะห่มดอง และใช้จีวรสีเหลืองพระราชนิยม (สีเหลืองสดออกส้ม)

2.)  ธรรมยุติกนิกาย – คือ พระวัดป่าส่วนใหญ่(อรัญวาสี) มีหน้าที่หลัก คือ เน้นเผยแพร่การทำสมาธิ วิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาธุระ ส่วนใหญ่ไม่นิยมห่มดอง จะใช้จีวรสีเหลืองกรัก หรือสีย้อมธรรมชาติจากแก่นขนุน
ส่วนวัดมาบจันทร์ และวัดสาขาของวัดหนองป่าพงทั้งหมดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แต่แนวทางและวัตรปฏิบัติเป็นแบบธรรมยุติ ท่านเลือกใช้จีวรสีเหลืองกรักเป็นหลักเพราะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเป็นหลัก แต่หากไปเข้าร่วมพิธีการร่วมกับพระมหานิกายวัดอื่น เช่น สอบนักธรรม หรือประชุมในเมือง ก็จะเปลี่ยนจีวรเป็นอีกสีพระราชนิยม เพื่อกลมกลืนกับสงฆ์หมู่มาก ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงไม่แปรญัติเป็นธรรมยุติ จะกล่าวได้ว่า เมื่อครั้งหลวงปู่ชาได้มาศึกษาธรรมะจากหลวงปู่มั่นแล้วเกิดศรัทธา จึงได้ขอแปลยัติเป็นธรรมยุติแล้ว แต่ท่านพระอาจารย์มั่นไม่อนุญาต โดยท่านได้ให้เหตุผลในเรื่องระหว่าง “ธรรมยุติกนิกาย” กับ “มหานิกาย” ไว้ว่า

“ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุติหมดเสียแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครแนะนำการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกายหรอก แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน”

ดังนั้นพระใหม่อย่างเรา จึงควรแน่วแน่กับข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มากกว่าการเสียเวลาตั้งข้อสงสัยในสีของจีวร ความแตกต่างนิกายทั้งสอง เพราะแท้จริงแล้ว นิกายนี้ มันก็เป็นเพียงสมมุติ ที่คนเราตั้งขึ้นมาเอง ขอทิ้งท้ายจากข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ อุปลมณี ที่ว่า

ถึงแม้ว่าคณะสงฆ์วัดหนองป่าพงเข้มงวดกวดขันในเรื่องพระวินัย แต่เนื่องจากสังกัดมหานิกาย เมื่อพระสายวัดหนองป่าพงไปพักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าฝ่ายธรรมยุติ จึงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นนานาสังวาส

ครั้งหนึ่ง มีพระธรรมยุติมาขอจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อได้ถามความเห็นของที่ประชุมสงฆ์ว่า จะรับพระอาคันตุกะเข้าร่วมลงอุโบสถด้วยหรือไม่ ซึ่งพระส่วนมากก็ลงความเห็นว่าไม่ควรด้วยเหตุผลว่า “ทางฝ่ายเขาก็ปฏิเสธฝ่ายเราอยู่หลวงพ่อได้ให้เหตุผลแย้งที่ประชุมว่า

“ผมว่าทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่ แต่มันยังไม่เป็นธรรมเป็นวินัย มันยังเป็นทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ มีความถือเนื้อถือตัวมาก มันไม่สบาย เอาอย่างพระพุทธเจ้าจะได้ไหม คือเราไม่ถือธรรมยุติไม่ถือมหานิกาย แต่เราถือพระธรรมพระวินัย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเป็นธรรมยุติหรือมหานิกายก็ให้ลงได้ ถ้าไม่ดี ไม่มีความละอายต่อบาป ถึงเป็นธรรมยุติก็ไม่ให้ร่วม เป็นมหานิกายก็ไม่ให้ร่วม ถ้าเราเอาอย่างนี้ ก็จะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง .อุบลราชธานี จากหนังสืออุปลมณี .๒๕๘