Monday, July 7, 2014

จีวร


จีวร

ตอนสมัยเป็นฆราวาสเนี่ย ตื่นเช้ามาก็ต้องมีเรื่องให้ต้องคิดอยู่เรื่อย หนึ่งในนั้นเห็นจะเป็น คิดว่าวันนี้จะใส่ชุดอะไรดี แต่เมื่อเป็นพระสิ่งเดียวที่ได้รับคือผ้าไตรจีวร ซึ่งประกอบไปด้วย ผ้าจีวร, สบง(ผ้านุ่ง) และสังฆาฏิ(ผ้าห่ม คล้ายจีวรซ้อนกัน 2 ชั้น) พร้อมด้วยผ้าบริขารอื่นๆ คือ ผ้าอาบ ใช้นุ่งแทนกางเกงชั้นใน หรือใส่ทำงาน 3 ผืน, รัดประคด ใช้แทนเข็มขัด, อังสะ ใช้แทนเสื้อกล้าม, ผ้ารองนั่ง, ผ้าเช็ดบาตร และย่าม ของใช้จำพวกผ้าหลักๆก็มีเพียงเท่านี้ เนื่องด้วยผ้ามีจำนวนน้อย เราจึงจำเป็นต้องซักเพื่อใช้สลับผลัดเปลี่ยนกันไป ทั้งยังต้องซักมือ และตากแดดธรรมชาติ ยิ่งช่วงเข้าพรรษาด้วยแล้ว ยิ่งฝนตกชุก อะไรๆก็ไม่แน่นอน ตอนเช้าซักผ้าแดดแจ๋ บ่ายมาเมฆครื้มเก็บผ้าแทบไม่ทัน แต่ยังดีที่ผ้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะ จีวร เป็นผ้าเนื้อละเอียด บางเบา แห้งเร็ว (ยกเว้นสังฆาฎิที่หนา แต่ซักนานๆครั้ง) จีวรนี้แหละที่เรียกว่าเป็นเครื่องแบบหลักของพระ เพราะใช้เกือบตลอดเวลา มีวิธีนุ่งต่างกันตามแต่ละโอกาส ดังนี้
1.)  ห่มดอง – ใช้เฉพาะงานบวช, ร่วมงานประชุมกับคณะสงฆ์อื่น หรือพระราชพิธีในเมือง (พระมหานิกายหรือวัดบ้าน ส่วนใหญ่นุ่งแบบนี้) คือการพับจีวรเป็นจีบๆ พาดสังฆาฏิ แล้วใช้ผ้ารัดอกมัดให้แน่น
2.)  ห่มคลุม – ใช้เดินบิณฑบาตร, ออกเดินทาง หรือโดยสารด้วยยานพาหนะ จะปกปิดตตั้งแต่คอ ใหล่ทั้ง 2 ข้าง เรื่อยมาจนถึง หน้าแข้ง
3.)  ห่มเฉวียงบ่า – ใช้ในพิธีทั่วไปในวัด หรือรับแขกแบบไม่เป็นทางการ
4.)  ห่มเฉวียงบ่า พาดสังฆาฏิ – ใช้ทำวัตรเช้า-เย็น ทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือสวดปาติโมกข์

เราฝึกนานกว่าสัปดาห์กว่าจะห่มคลุมเพื่อออกบิณฑบาตรได้ทันพระรุ่นพี่ กว่าจะห่มเฉวียงบ่าได้แน่นกระชับตัว โดยผ้าไม้หลุด การนุ่งที่ว่านี้อยู่ที่การม้วนจีวรแล้วสะบัดให้ถูกที่ ถูกจังหวะเท่านั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก



สีของจีวร
เคยสงสัยไหมว่าทำไมสีของจีวรพระไม่เหมือนกัน บ้างก็เหลืองสด บ้างก็หม่นๆ ถ้าแบ่งอย่างคร่าวๆคงแบ่งได้จากคณะสงฆ์ไทยหลัก 2 นิกาย คือ
1.)  มหานิกาย – คือพระส่วนใหญ่ของประเทศ (คำว่ามหา แปลว่าส่วนใหญ่) หรือที่เราเรียกว่าวัดบ้าน(คามวาสี) มีหน้าที่หลักคือเป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา ดูแลตำราวิชาการ การศึกษาทางปริยัติ เรียกว่า คันถธุระ ส่วนใหญ่จะห่มดอง และใช้จีวรสีเหลืองพระราชนิยม (สีเหลืองสดออกส้ม)

2.)  ธรรมยุติกนิกาย – คือ พระวัดป่าส่วนใหญ่(อรัญวาสี) มีหน้าที่หลัก คือ เน้นเผยแพร่การทำสมาธิ วิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาธุระ ส่วนใหญ่ไม่นิยมห่มดอง จะใช้จีวรสีเหลืองกรัก หรือสีย้อมธรรมชาติจากแก่นขนุน
ส่วนวัดมาบจันทร์ และวัดสาขาของวัดหนองป่าพงทั้งหมดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แต่แนวทางและวัตรปฏิบัติเป็นแบบธรรมยุติ ท่านเลือกใช้จีวรสีเหลืองกรักเป็นหลักเพราะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเป็นหลัก แต่หากไปเข้าร่วมพิธีการร่วมกับพระมหานิกายวัดอื่น เช่น สอบนักธรรม หรือประชุมในเมือง ก็จะเปลี่ยนจีวรเป็นอีกสีพระราชนิยม เพื่อกลมกลืนกับสงฆ์หมู่มาก ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงไม่แปรญัติเป็นธรรมยุติ จะกล่าวได้ว่า เมื่อครั้งหลวงปู่ชาได้มาศึกษาธรรมะจากหลวงปู่มั่นแล้วเกิดศรัทธา จึงได้ขอแปลยัติเป็นธรรมยุติแล้ว แต่ท่านพระอาจารย์มั่นไม่อนุญาต โดยท่านได้ให้เหตุผลในเรื่องระหว่าง “ธรรมยุติกนิกาย” กับ “มหานิกาย” ไว้ว่า

“ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุติหมดเสียแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครแนะนำการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกายหรอก แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน”

ดังนั้นพระใหม่อย่างเรา จึงควรแน่วแน่กับข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มากกว่าการเสียเวลาตั้งข้อสงสัยในสีของจีวร ความแตกต่างนิกายทั้งสอง เพราะแท้จริงแล้ว นิกายนี้ มันก็เป็นเพียงสมมุติ ที่คนเราตั้งขึ้นมาเอง ขอทิ้งท้ายจากข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ อุปลมณี ที่ว่า

ถึงแม้ว่าคณะสงฆ์วัดหนองป่าพงเข้มงวดกวดขันในเรื่องพระวินัย แต่เนื่องจากสังกัดมหานิกาย เมื่อพระสายวัดหนองป่าพงไปพักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าฝ่ายธรรมยุติ จึงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นนานาสังวาส

ครั้งหนึ่ง มีพระธรรมยุติมาขอจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อได้ถามความเห็นของที่ประชุมสงฆ์ว่า จะรับพระอาคันตุกะเข้าร่วมลงอุโบสถด้วยหรือไม่ ซึ่งพระส่วนมากก็ลงความเห็นว่าไม่ควรด้วยเหตุผลว่า “ทางฝ่ายเขาก็ปฏิเสธฝ่ายเราอยู่หลวงพ่อได้ให้เหตุผลแย้งที่ประชุมว่า

“ผมว่าทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่ แต่มันยังไม่เป็นธรรมเป็นวินัย มันยังเป็นทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ มีความถือเนื้อถือตัวมาก มันไม่สบาย เอาอย่างพระพุทธเจ้าจะได้ไหม คือเราไม่ถือธรรมยุติไม่ถือมหานิกาย แต่เราถือพระธรรมพระวินัย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเป็นธรรมยุติหรือมหานิกายก็ให้ลงได้ ถ้าไม่ดี ไม่มีความละอายต่อบาป ถึงเป็นธรรมยุติก็ไม่ให้ร่วม เป็นมหานิกายก็ไม่ให้ร่วม ถ้าเราเอาอย่างนี้ ก็จะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง .อุบลราชธานี จากหนังสืออุปลมณี .๒๕๘

No comments:

Post a Comment