Tuesday, October 15, 2013

“สุขุมวิท” ถิ่นนี้ ชีวิตต้องป๊อบ // ตอนที่ 1: นิราศ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท

“สุขุมวิท” ถิ่นนี้ ชีวิตต้องป๊อบ
ตอนที่ 1: นิราศ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท
 



BTS รถรางวิ่งบนฟ้า 
BTS วิ่งมา ห่างเส้นเหลือง
BTS ผ่านบ้านแล้ว ดูรุ่งเรือง
BTS เข้าเมือง ไวไม่นาน

จาก"แบริ่ง" พี่วิ่ง ใจว้าวุ่น
จากกลิ่นอุ่น ไอแดด จากรั้วบ้าน
จากชานเมือง จังหวัด สมุทรปราการ
จากไม่นาน ตะวันลับ จะกลับมา

สักพักหนึ่ง บ้านมิตร ติด"บางนา"
สักพักพา พบเพื่อน ร่วมอาสา
สักพักพบ สหายรัก ที่ห่างตา
สักพักหา นั่งสักพัก พบปะกัน

"อุดมสุข" หมดทุกข์ งดเรื่องเศร้า
มีเรื่องเล่า อุดม คิดสร้างสรรค์
อุดมมิตร ช่วยคิด มีแบ่งปัน
อุดมการณ์ เพื่อนตาย มิสั่นคลอน

"ปุณณวิถี" ต่างคน ต่างวิถี
ต่างชีวี มีหนทาง ต่างคำสอน
ต่างคนคิด ขัดแย้ง อย่าร้าวรอน
อุธาหรณ์ สอนสติ ชีวิตเรา

ถึง "บางจาก" จากจร คนละทิศ
ลาก่อนมิตร คิดดี พิชิตเขา
ปลุกดวงจิต ปลุกชีวิต ขึ้นจากเงา
ให้เจิศเท่า อาทิตย์แจ้ง จรัสใจ
...

/สถานีต่อไป อ่อนนุช/

“สีลม – สาทร” ชีวิตบนโลกคู่ขนาน // ตอนที่ 3: สุสานร้างวัดดอน และบทสรุป



สีลม สาทรชีวิตบนโลกคู่ขนาน
ตอนที่ 3: สุสานร้างวัดดอน และบทสรุป


ต่อจากตอนที่แล้ว เราเดินออกจาก สุสานสมาคมจีนแต้จิ๋ว เดินเลียบคลองไปเรื่อยๆ นอกจากน้ำในคลองแล้ว สองข้างทางของเราปกคลุมด้วยเงาต้นไม้ใหญ่เบื้องบน เบื้องล่างขนาบข้างด้วยหลุมศพพร้อมป้ายภาษาจีนเรียงราย พร้อมกับศาลเจ้าตี่จู่เอี๊ยะที่พังแล้ว วางระเกะระกะไร้การจัดวาง วัชพืชขึ้นรก พร้อมขยะระเขะระขะ เราเดินต่อจนถึงถนนใหญ่ที่มีทางด่วนพาดผ่าน แต่ดูเหมือนว่าอาณาเขตของสุสานนี้ยังไม่สิ้นสุด เพราะเมื่อเราข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของถนน ก็พบหลุมศพอีกจำนวนมากในป่ารกชัฏ ดูไม่ค่อยน่าภิรมย์ในการเดินเข้าไปสำรวจนัก เราสันนิษฐานเองว่า พื้นที่ที่ถนนตัดผ่าน เมื่อก่อนคงเป็นสุสานเหมือนกัน และเราได้ทราบข้อมูลภายหลังว่า ที่ตรงนี้คือส่วนหนึ่งของ ป่าช้า สุสานวัดดอน

 เราเลือกที่จะเดินทางต่อไป ตามแนวใต้ทางด่วน พบที่จอดรถขนขยะของ กทม. ในขณะเดียวกันก็พบกับบ้านพักชั่วคราวของคนไร้บ้าน ซึ่งพวกเข้าไม่ได้ใช้วัสดุราคาแพงใดๆ ผนังก็ใช้ป้ายของหลุมฝั่งศพนั่นแหละ ส่วนหลังคาก็หาพลาสติกผืนใหญ่ๆที่หาได้จากรถขยะ เอาเศษไม้แถวนั้นมาทำเป็นเสาค้ำไว้พอกันฝนได้เท่านั้น  เราเดินต่อไปเรื่อยๆจนพบ สวนสาธารณะของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พบลานกีฬาใต้ทางด่วนพร้อมป้ายชื่อผู้สนับสนุน เสาและคานทางด่วนโค้งตัดผ่านชุมชน ดูเหมือนว่าจะแบ่งแยกพื้นที่ให้ขาดกันอย่างสิ้นเชิง พวกเขาน้อยคนนักที่จะมีโอกาสใช้ทางด่วนที่ตัดผ่านหลังคาบ้าน หรือในแง่มุมหนึ่ง พวกเขาอาจยินดีที่มีที่บังแดด บังฝน ก็เป็นได้ ในขณะที่ชีวิตผู้ใช้งานด้านบน จะรู้ไหมว่าพวกเขากำลังขับรถผ่านหลุมศพ และบ้านคนมาแล้วกี่หลังคาเรือน ???

เราเดินไปเรื่อยจนพบถนนใหญ่ ซึ่งข้างหน้าก็คือสถานี BTS สุรศักดิ์ และความศิวิไลซ์ก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง


โปรดติดตามตอนต่อไป //
สุขุมวิท ถิ่นนี้ ชีวิตต้องป๊อบ

“สีลม – สาทร” ชีวิตบนโลกคู่ขนาน // ตอนที่ 2: สุสานสมาคมจีนแต้จิ๋ว


สีลม สาทรชีวิตบนโลกคู่ขนาน
ตอนที่ 2: สุสานสมาคมจีนแต้จิ๋ว
 
ต่อจากตอนที่แล้ว เราเดินข้ามฝั่งไปซอย สาทร11 ต่อรถสองแถวไปแถวถนนจันทร์ คราวนี้เราเดินทางอย่างไม่มีจุดหมายไปเรื่อยๆ จนพบซุ้มประตูแบบจีนขนาดใหญ่ พร้อมป้ายขนาดใหญ่ว่า สมาคมจีนแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย แต่เราไม่สนใจที่จะเข้าไป กลับเลือกเดินโอ้มรั้วกำแพงที่แสนยาวไปอีกทาง เราเดินเท้าไปเรื่อยๆผ่านตึกแถวซึ่งผู้อาศัยส่วนใหญ่หากดูจากภายนอกจะคล้ายชาวอินเดีย บรรยากาศโดยรอบนอกจากกำแพงสูงของสมาคมจีนแต้จิ๋วแล้ว เราก็มองเห็นตึกหรูระฟ้าอยู่ไกลๆ แต่ที่เราเห็นไม่ชินตานักคือเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ และหลังคาวัดที่ซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นๆ ดูเหมือนไม่ใช้วัดพุทธไทยโดยทั่วไป ยิ่งทำให้เราสนใจว่าปลายทางข้างหน้าคืออะไรกันแน่ และเราก็เดินต่อไปผ่านทางแคบๆที่รถยนต์ยังอุตสาห์เข้ามาได้ เรารอให้รถออกมาก่อนถึงเดินเข้าไปได้ และปลายทางนั้นทำให้เราพบคำตอบ โดยแยกซ้ายมือนั้นเราพบอาคารหินอ่อนทั้งหลังพร้อมป้ายชื่อ วัดวิษณุ เป็นวัดของศาสนาพรามหมณ์-ฮินดู ศูนย์รวมของชาวไทย เชื้อสายอินเดีย ในขณะที่แยกขวามือเราพบป้ายชื่อ วัดปรกยานนาวาพร้อมกับป้ายข้อมูลจึงทำให้รู้ว่า นี่เป็นวัดของชาวมอญ และยอดเจดีย์ที่เราเห็นก็เป็นของวัดนี้นี่เอง



เราตัดสินใจเดินทางต่อไป เดินข้ามคลองที่ขนาบข้างไปด้วยหลุมฝั่งศพ บนป้ายนั้นเขียนเป็นภาษาจีน เราเดินผ่านไปสักระยะหนึ่ง แต่เหมือนไม่รู้มีอะไรดลใจ เราเดินทางกลับไป พร้อมเดินผ่านเข้าไปในประตูที่ชื่อว่า สุสาน สมาคมจีนแต้จิ๋ว ซึ่งอยู่ข้างๆกับวัดปรกนั่นเอง

เราตัดสินใจไม่ผิดเลยที่เข้ามาที่นี่ สองข้างทางขนาบด้วยต้นไทรที่เต็มไปด้วยรากอากาศ ด้านหนึ่งเป็นหลุมศพเรียงรายที่ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกคลื้ม ดูเหมือนบรรยากาศชวนสยอง แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเนินหญ้าขนาดใหญ่สีเขียวที่ถูกดูแลตัดแต่งเป็นอย่างดี เบื้องหน้ามีอุปกรณ์ออกกำลังกาย ป้ายบอกว่านี่คือชมรมวิ่ง ชมรมฟิตเนส ชมรมหมากรุก ลานบาสเก็ตบอล สนามเด็กเล่น ห้องน้ำ อาคารอเนกประสงค์ และที่เด่นที่สุดคงเป็นเจดีย์จีนกลางน้ำ ทั้งหมดนี้รายล้อมด้วยหลุมฝั่งศพ และมีฉากหลังเป็นตึกสูงระฟ้าแถบพื้นที่สีลม เห็นดูขัดแย้งกัน แต่สวยงามอย่างบอกไม่ถูก

สุสานจีนแต้จิ๋วนี้ ดูมีชีวิตชีวา แตกต่างกับที่ สีลมซอย9 อย่างสิ้นเชิง มีผู้คนมาวิ่งออกกำลังกาย บ้างก็เล่นเครื่องเล่นฟิตเนสเหล็กซึ่งประดิษฐ์เอง บ้างก็เล่นห่วงฮูลาฮูป อีกทั้งเด็กๆที่ตั้งใจฝึกซ้อมเทควันโด ในขณะที่ก็ยังคงมีคนแวะเวียนเข้ามาติดต่อคุณลุงสัปเหร่อที่สำนักงานสุสานอย่างไม่ขาดสาย (ทราบมาภายหลังว่าปัจจุบันไม่รับศพใหม่แล้ว มีแต่ติดต่อย้ายออก)

และเราก็เดินจากที่นี่ไปด้วยความประทับใจ กับวิวที่แปลกตา และวิธีการบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์ โดยเราทราบข้อมูลภายหลังว่าเนินหญ้าสีเขียวสวยๆนั้น คือ หลุมศพของผู้ไร้ญาติที่มาฝั่งอยู่รวมกัน !!!

(ภาพในกล้องหายโดยไม่ทราบสาเหตุ)
 (จริงๆไม่ได้ถ่ายไว้ พอดีแบตมันหมด)



โปรดติดตามตอนต่อไป // ตอนที่ 3: สุสานร้างวัดดอน และบทสรุป

“สีลม – สาทร” ชีวิตบนโลกคู่ขนาน / ตอนที่ 1: สุสานสีลม ซอย9




สีลม สาทรชีวิตบนโลกคู่ขนาน
 ตอนที่ 1: สุสานสีลม ซอย9


สีลม-สาทร พื้นที่ธุรกิจ ใจกลางเมือง  ศูนย์รวมผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ต่างถิ่นฐาน ต่างวัฒนธรรม รวมถึงแหล่งรวมสถานบันเทิงยามค่ำคืนไม่เคยหลับใหล และเป็นพื้นที่ที่ติดอันดับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงลิบลิ่วจากผลการสำรวจในแต่ละปี แต่ในทางกลับกันกลับมีพื้นที่ที่ยังคงเงียบสงบ วังเวง ไร้ผู้คน นั้นก็คือ สุสาน


เราเริ่มเดินทางสำรวจทางเท้าจาก สถานี BTS ศาลาแดง วันนี้เป็นวันอาทิตย์ สำนักงานบริษัทส่วนใหญ่ปิดกันหมด แต่พื้นที่บนถนนสีลม ยังคงคึกคักไปด้วยผู้คนทั้งไทย และต่างชาคิ พ่อค้า แม่ค้าหาบแร่ริมทาง รวมไปถึงขอทานจำนวนหนึ่ง เราเดินเรื่อยไปจนถึงแยก นราธิวาสราชนครินทร์ แยกที่เส้นทาง BTS เลี้ยวโค้งไปทางซ้าย เสมือนบอกเราเป็นนัยว่า หนทางข้างหน้ามันคงไม่ ศิวิไลซ์ นัก แต่เราเลือกที่จะเดินตรงไปจนถึงเป้าหมาย สีลม ซอย9

เรารู้มาก่อนว่า สีลม ซอย9 เป็นซอยที่เป็นสุสานเก่าทั้งของชาวจีน และคริสต์ แต่เราไม่รู้เลยว่าพวกเขามีการจัดการพื้นที่กันอย่างไร ในพื้นที่อีกด้านหนึ่งที่มีราคาสูงลิบและพลุกพล่าน แต่เพียงเดินข้ามถนนกลับเป็นพื้นที่สงบ ร้างผู้คน จึงอยากเดินมาดูให้เห็นว่าปัจจุบันพื้นที่ สุสานนี้ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

 

เราจึงไม่ค่อยแปลกใจนักที่เห็นโครงการก่อสร้างอาคารเชิงพาณิชย์อยู่หน้าปาก ซอยสีลม 9 ในขณะที่พื้นที่ด้านข้างยังคงเต็มไปด้วยหลุมศพตามเดิม เราเดินเข้าไปกลางซอย พบอาคารสำนักงานหลังหนึ่ง พร้อมรูปปั้นเทพฮินดูขนาดใหญ่ อาจจะหวังผลให้ช่วยดูแลอาคารนี้ให้ปลอดจากทูต ผี ปีศาจ ในขณะเดียวกันพื้นที่ฝั่งตรงข้ามยังคงรายล้อมด้วยหลุมศพมากมาย ที่ปล่อยให้รกร้าง แต่ทั้งนี้มนุษย์คนเป็นอย่างเรายังอุตส่านำเต้นท์มากางบนพื้นที่ที่เคยใช้ทำพิธี ปรับเป็นร้านอาหาร บ้างก็รื้อหลุมศพบางส่วนออก เทปูนซีเมนต์ ขีดเส้นสี แบ่งเป็นช่องพอรถจอดได้ กลายเป็น บริการที่จอดรถ ที่สนนราคาไม่ได้ต่างจากพื้นที่อื่นเท่าใดนัก เราเดินเท้าต่อไปจนสุดซอย ในฝั่งขวาของซอยเราพบ โรงเรียนจีน กวางเจ้าและ สุสานคริสเตียน ซึ่งยังคงรักษาความสะอาด ความสงบ ของพื้นที่ได้ดี มีรั้วรอบ ขอบชิด พื้นที่โรงเรียนดูปลอดภัย ส่วนพื้นที่สุสานดูสงวนพื้นที่ไว้สำหรับคนตายเท่านั้นจริงๆ แต่ในทางฝั่งตรงกันข้ามกลับมีโครงการสร้างอาคารที่พักอาศัยขนาดใหญ่ ทั้งสร้างเสร็จแล้ว และกำลังก่อสร้างอีกมากกว่า 3 โครงการ

 

ซอยสีลม 9 นี้สามารถทะลุไปถนนสาทรได้ เราจึงเดินเท้าต่อไปและไม่นานเท่าใดนักเราเริ่มพบผู้คนพลุกพล่านอีกครั้ง มีร้านสะดวกซื้อ และคอนโดซึ่งสร้างติดกับสุสานคริสเตียนนั่นแหละ และเราก็เดินมาเรื่อยๆ ผ่านโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย ชีวิตกลับมาปกติอีกครั้งเมื่อถึงปากซอยฝั่งถนนสาทร

โปรดติดตามตอนต่อไป // ตอนที่ 2: สุสานสมาคมจีนแต้จิ๋ว