Saturday, July 19, 2014

ยินดีในเสนาสนะที่จัดให้?

ยินดีในเสนาสนะที่จัดให้?

หลังจากรอมาสักพักให้พระชุดเก่าที่ไม่ได้อยู่จำพรรษาสึกออกไปก็ได้พักในกุฎิส่วนตัวหลังแรก กุญแจที่ได้รับระบุหมายเลข 26 สอบถามเส้นทางคร่าวๆ รู้ว่าอยู่ใกล้กับหอฉันหน้าวัด ทันใดนั้นจึงเก็บสัมพาระอันน้อยนิดเตรียมตัวย้ายเข้าไปกุฎิหลังใหม่ ในใจตื่นเต้นมากเพราะจะเป็นคืนแรกที่ต้องจำวัดโดยลำพัง ว่าแต่กุฎิ26 อยู่ไหนเนี่ย เห็นแต่กุฎิ24 กับ 25 นี่เดินวนมาหลายรอบแล้วนะ ทำไมยังหาไม่เจออีก เดินไปเดินมาจนเจอแผนผังของวัดที่ไม่เคยได้สนใจดูมาก่อนก็ทำให้รู้ว่า มันมีทางเดินขึ้นไปอีกระหว่างกุฎิ24 และ25

แต่ทว่า.......ไหนล่ะทางเดิน?

เนี่ยนะ! ช่วงนั้นมีใบปาล์มหล่นมาขวางทางพอดี ทำให้มองไม่เห็นทางเดินขึ้นไป แต่ถึงเห็นทางก็ไม่คิดว่าจะมีกุฎิอยู่ด้านบน เพราะมันช่างชันและรก มีทั้งเถาวัลย์ ทั้งรากไม้ระโยงระยาง เต็มไปหมด แต่เอาน่านึกออกได้อย่างเดียวว่า ยินดีในเสนาสนะที่จัดให้ ตามคำแนะนำในหนังสือคู่มือพระใหม่ท่านว่าไว้ จึงพอมีกำลังใจเดินขึ้นไปพร้อมอาการหอบแฮ่กๆ และนี่คือภาพที่เห็นตรงหน้า

อาคารไม้ใต้ถุนสูงดูอายุน่าจะเก่าแก่ แต่ยังคงรักษาสภาพให้ใช้การได้ ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวในป่าอันสงัด นี่มันช่างเป็นบรรยากาศที่เหมาะสำหรับปลีกวิเวกที่จะพักผ่อน ไม่ใช่สิสำหรับการภาวนาเสียจริง






แต่เดี๋ยวก่อน.........ก่อนจะขึ้นไปถึงกุฎิ  เอ๊ะนี่มันตัวอะไรล่ะเนี่ย!


ภาพที่เห็นคือกองทัพมดยักษ์ ที่มีลำตัวใหญ่กว่ามดคันไฟเล็กน้อย แต่หัวกับปากทรงกรรไกรของมันนี่สิ ซึ่งใหญ่กว่าตัวมันเกือบ 2 เท่าเห็นจะได้ ในหัวตอนนี้มีแต่คำถาม แล้วเราจะขึ้นไปได้อย่างไรล่ะ? แล้วตอนเช้าล่ะ เราจะเหยียบมันมั้ย? โห้! นี่เราจะอยู่ที่นี่ได้นานมั้ย? เอาล่ะ! ตัดสินใจกระโดดข้ามมัน ผ่านการคำนวณเส้นทางที่เห็นว่าลัดสั้นที่สุด โอ้ย! พลาด! โดนมันกัดจนได้ เจ็บจี๊ดแบบสุดๆ แต่นึกขึ้นได้ว่าเป็นพระฆ่าสัตว์ไม่ได้ ได้แต่จับมันสลัดไปให้พ้นจากตัว
 เห้อ! ในที่สุดก็ผ่านมันไปได้ มือก็รีบขว้าเข้าไปหากุญแจ เพื่อจะเก็บสัมภาระ เก็บกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อย แล้วพักผ่อนสักครู่ จนกระทั่ง....



เสียงระฆังแหว่วๆดังแผ่วมาแต่ไกล แสดงถึงความวิเวกของกุฏิหมายเลข26 ได้เป็นอย่างดี เวลานี้คือเวลาบ่าย 3 โมงคือเวลาที่พระทุกรูปจะต้องปฏิบัติกิจส่วนรวม ตามแต่ได้รับมอบหมายในแต่ละพื้นที่ โดยเราได้รับมอบหมายให้ดูแลโบสถ์ซึ่งอยู่บนเนินเขาท้ายวัด แต่นี่เราอยู่บริเวณหน้าวัด ทางลัดที่ใกล้ที่สุดก็คือการเดินเลาะป่า ผ่านโรงย้อม แต่เส้นทางนี้ต้องขึ้นบันไดไปอีกหลายขั้น แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว แต่ก่อนเราจะไปถึงโบสถ์ได้นั้น เราต้องผ่านกองทัพมดยักษ์ให้ได้เสียก่อน.............แล้วก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนกระทั่งกลับมาจากทำกิจส่วนรวม และฉันน้ำปานะแล้วเสร็จก็ใกล้เย็น แต่กองทัพมดยักษ์ยังไม่ไปไหน จะมืดแล้วทำไงดี?


Monday, July 7, 2014

จีวร


จีวร

ตอนสมัยเป็นฆราวาสเนี่ย ตื่นเช้ามาก็ต้องมีเรื่องให้ต้องคิดอยู่เรื่อย หนึ่งในนั้นเห็นจะเป็น คิดว่าวันนี้จะใส่ชุดอะไรดี แต่เมื่อเป็นพระสิ่งเดียวที่ได้รับคือผ้าไตรจีวร ซึ่งประกอบไปด้วย ผ้าจีวร, สบง(ผ้านุ่ง) และสังฆาฏิ(ผ้าห่ม คล้ายจีวรซ้อนกัน 2 ชั้น) พร้อมด้วยผ้าบริขารอื่นๆ คือ ผ้าอาบ ใช้นุ่งแทนกางเกงชั้นใน หรือใส่ทำงาน 3 ผืน, รัดประคด ใช้แทนเข็มขัด, อังสะ ใช้แทนเสื้อกล้าม, ผ้ารองนั่ง, ผ้าเช็ดบาตร และย่าม ของใช้จำพวกผ้าหลักๆก็มีเพียงเท่านี้ เนื่องด้วยผ้ามีจำนวนน้อย เราจึงจำเป็นต้องซักเพื่อใช้สลับผลัดเปลี่ยนกันไป ทั้งยังต้องซักมือ และตากแดดธรรมชาติ ยิ่งช่วงเข้าพรรษาด้วยแล้ว ยิ่งฝนตกชุก อะไรๆก็ไม่แน่นอน ตอนเช้าซักผ้าแดดแจ๋ บ่ายมาเมฆครื้มเก็บผ้าแทบไม่ทัน แต่ยังดีที่ผ้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะ จีวร เป็นผ้าเนื้อละเอียด บางเบา แห้งเร็ว (ยกเว้นสังฆาฎิที่หนา แต่ซักนานๆครั้ง) จีวรนี้แหละที่เรียกว่าเป็นเครื่องแบบหลักของพระ เพราะใช้เกือบตลอดเวลา มีวิธีนุ่งต่างกันตามแต่ละโอกาส ดังนี้
1.)  ห่มดอง – ใช้เฉพาะงานบวช, ร่วมงานประชุมกับคณะสงฆ์อื่น หรือพระราชพิธีในเมือง (พระมหานิกายหรือวัดบ้าน ส่วนใหญ่นุ่งแบบนี้) คือการพับจีวรเป็นจีบๆ พาดสังฆาฏิ แล้วใช้ผ้ารัดอกมัดให้แน่น
2.)  ห่มคลุม – ใช้เดินบิณฑบาตร, ออกเดินทาง หรือโดยสารด้วยยานพาหนะ จะปกปิดตตั้งแต่คอ ใหล่ทั้ง 2 ข้าง เรื่อยมาจนถึง หน้าแข้ง
3.)  ห่มเฉวียงบ่า – ใช้ในพิธีทั่วไปในวัด หรือรับแขกแบบไม่เป็นทางการ
4.)  ห่มเฉวียงบ่า พาดสังฆาฏิ – ใช้ทำวัตรเช้า-เย็น ทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือสวดปาติโมกข์

เราฝึกนานกว่าสัปดาห์กว่าจะห่มคลุมเพื่อออกบิณฑบาตรได้ทันพระรุ่นพี่ กว่าจะห่มเฉวียงบ่าได้แน่นกระชับตัว โดยผ้าไม้หลุด การนุ่งที่ว่านี้อยู่ที่การม้วนจีวรแล้วสะบัดให้ถูกที่ ถูกจังหวะเท่านั้น จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก



สีของจีวร
เคยสงสัยไหมว่าทำไมสีของจีวรพระไม่เหมือนกัน บ้างก็เหลืองสด บ้างก็หม่นๆ ถ้าแบ่งอย่างคร่าวๆคงแบ่งได้จากคณะสงฆ์ไทยหลัก 2 นิกาย คือ
1.)  มหานิกาย – คือพระส่วนใหญ่ของประเทศ (คำว่ามหา แปลว่าส่วนใหญ่) หรือที่เราเรียกว่าวัดบ้าน(คามวาสี) มีหน้าที่หลักคือเป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา ดูแลตำราวิชาการ การศึกษาทางปริยัติ เรียกว่า คันถธุระ ส่วนใหญ่จะห่มดอง และใช้จีวรสีเหลืองพระราชนิยม (สีเหลืองสดออกส้ม)

2.)  ธรรมยุติกนิกาย – คือ พระวัดป่าส่วนใหญ่(อรัญวาสี) มีหน้าที่หลัก คือ เน้นเผยแพร่การทำสมาธิ วิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาธุระ ส่วนใหญ่ไม่นิยมห่มดอง จะใช้จีวรสีเหลืองกรัก หรือสีย้อมธรรมชาติจากแก่นขนุน
ส่วนวัดมาบจันทร์ และวัดสาขาของวัดหนองป่าพงทั้งหมดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แต่แนวทางและวัตรปฏิบัติเป็นแบบธรรมยุติ ท่านเลือกใช้จีวรสีเหลืองกรักเป็นหลักเพราะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเป็นหลัก แต่หากไปเข้าร่วมพิธีการร่วมกับพระมหานิกายวัดอื่น เช่น สอบนักธรรม หรือประชุมในเมือง ก็จะเปลี่ยนจีวรเป็นอีกสีพระราชนิยม เพื่อกลมกลืนกับสงฆ์หมู่มาก ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมถึงไม่แปรญัติเป็นธรรมยุติ จะกล่าวได้ว่า เมื่อครั้งหลวงปู่ชาได้มาศึกษาธรรมะจากหลวงปู่มั่นแล้วเกิดศรัทธา จึงได้ขอแปลยัติเป็นธรรมยุติแล้ว แต่ท่านพระอาจารย์มั่นไม่อนุญาต โดยท่านได้ให้เหตุผลในเรื่องระหว่าง “ธรรมยุติกนิกาย” กับ “มหานิกาย” ไว้ว่า

“ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุติหมดเสียแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครแนะนำการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกายหรอก แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน”

ดังนั้นพระใหม่อย่างเรา จึงควรแน่วแน่กับข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัย มากกว่าการเสียเวลาตั้งข้อสงสัยในสีของจีวร ความแตกต่างนิกายทั้งสอง เพราะแท้จริงแล้ว นิกายนี้ มันก็เป็นเพียงสมมุติ ที่คนเราตั้งขึ้นมาเอง ขอทิ้งท้ายจากข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ อุปลมณี ที่ว่า

ถึงแม้ว่าคณะสงฆ์วัดหนองป่าพงเข้มงวดกวดขันในเรื่องพระวินัย แต่เนื่องจากสังกัดมหานิกาย เมื่อพระสายวัดหนองป่าพงไปพักปฏิบัติธรรมที่วัดป่าฝ่ายธรรมยุติ จึงร่วมอุโบสถสังฆกรรมกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นนานาสังวาส

ครั้งหนึ่ง มีพระธรรมยุติมาขอจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อได้ถามความเห็นของที่ประชุมสงฆ์ว่า จะรับพระอาคันตุกะเข้าร่วมลงอุโบสถด้วยหรือไม่ ซึ่งพระส่วนมากก็ลงความเห็นว่าไม่ควรด้วยเหตุผลว่า “ทางฝ่ายเขาก็ปฏิเสธฝ่ายเราอยู่หลวงพ่อได้ให้เหตุผลแย้งที่ประชุมว่า

“ผมว่าทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่ แต่มันยังไม่เป็นธรรมเป็นวินัย มันยังเป็นทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ มีความถือเนื้อถือตัวมาก มันไม่สบาย เอาอย่างพระพุทธเจ้าจะได้ไหม คือเราไม่ถือธรรมยุติไม่ถือมหานิกาย แต่เราถือพระธรรมพระวินัย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเป็นธรรมยุติหรือมหานิกายก็ให้ลงได้ ถ้าไม่ดี ไม่มีความละอายต่อบาป ถึงเป็นธรรมยุติก็ไม่ให้ร่วม เป็นมหานิกายก็ไม่ให้ร่วม ถ้าเราเอาอย่างนี้ ก็จะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ
พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง .อุบลราชธานี จากหนังสืออุปลมณี .๒๕๘

ชั่วโมงบิณฑ(บาตร) : บิณฑบาต ครั้งแรก!

ชั่วโมงบิณฑ(บาตร) : บิณฑบาต ครั้งแรก!

     เป็นภาพที่ชินตาสำหรับชาวพุทธในทุกเช้า แต่สำหรับเช้านี้มันไม่ชินเลยสำหรับการเดินบิณฑบาตรครั้งแรก! สำหรับพระใหม่อย่างเรา คำถามว่าจะออกบิณฑบาตรได้เมื่อไหร่เป็นคำถามยอดนิยม คำตอบที่ได้จากครูบาอาจารย์คือเป็นช่วงรอยต่อระหว่างกลางคืนกับรุ่งเช้า มีวิธีสังเกตคือสามารถมองเห็นลอยมือของตนเองได้ในที่แจ้ง หรือมองเห็นความแตกต่างของสีเขียวของใบไม้ หรือมองเห็นแสงสีส้มทองบนฟ้า ในใจคิดว่าแล้วสรุปมันกี่โมงกันเล่า? ทำไมไม่ดูนาฬิกา? สงสัยไว้ในใจ


     นอกจากจะลำบากตั้งแต่การดูเวลาออกบิณฑบาตรแล้ว ขั้นตอนเตรียมตัวออกบิณฑบาตรก็ดูมีขั้นตอนพอสมควร เริ่มตั้งแต่การกรอกบาตรนั่นคือการใส่น้ำสะอาดจำนวนเล็กน้อย เสร็จแล้วค่อยๆกรอกกลิ้งน้ำไปทั่วบาตรอย่างช้าๆ มีสติ เมื่อเห็นว่าไม่มีเศษฝุ่นติดหลงเหลืออยู่แล้วจึงเทน้ำออกลงกระโถน จากนั้นจึงลุกขึ้นออกไปเปลี่ยนจีวรจากแบบเฉวียงบ่าเป็นแบบห่มคลุม ช่วงเวลานี้มันดูช่างยุ่งยากเพราะการห่มคลุมนี้จะห่มเฉพาะเมื่อออกเดินทางไปนอกวัด หรือบิณฑบาตรเท่านั้น และนี่คือการเดินทางออกนอกวัดเป็นครั้งแรก จึงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเป็นธรรมดา เมื่อห่มเสร็จจึงให้เพื่อนพระตรวจเช็คความเรียบร้อย จากนั้นจึงกลับเข้าไปเอาบาตรคล้องไว้ที่บ่าเตรียมตัวออกบิณฑบาตรครั้งแรก

     เท้าที่เปลือยเปล่าเหยียบย่ำพื้นถนนอันขรุขระ ที่เต็มไปด้วยหินกรวดเล็กใหญ่ สายตาทอดยาวไปข้างหน้า หนทางมันช่างยาวไกลเหลือเกิน เราเดินไปช้าๆอย่างระมัดระวังเพราะกลัวหินตำเท้า แต่แล้วก็ดูจะช้าเกินไป จนแถวทิ้งห่างเป็นกิโล จะเร่งก็กลัวหินบาด ซ้ำยังพะวงกลัวจีวรจะหลุดอีก โดยปกติแล้วที่วัดมาบจันทร์จะจัดสายบิณฑบาตรเป็นสาย ใกล้บ้าง ไกลบ้างสลับกันไป บ้างไปในตลาดซึ่งต้องน้องรถตู้ไป บ้างไปในหมู่บ้าน บ้างก็ไปบ้านโยมเพียงคนเดียว และแน่นอนพระใหม่อย่างเราถูกจัดให้เดินในสายบิณฑบาตรที่ใกล้ที่สุด พบปะผู้คนน้อยที่สุด และแล้วก็มาถึงหน้าบ้านโยม

     เนื่องจากเราบวชช่วงเข้าพรรษา จึงทำให้มีพระใหม่จำนวนมาก จึงทำให้มีภิกษุหลายสิบรูปมายืนรอรับศรัทธาหน้าบ้านโยมกันมากสักหน่อย แต่โยมดูมีสีหน้ายินดีจัดสรรปันส่วนข้าวสวยบ้าง ไข่ต้มบ้าง ขนมบ้างใส่บาตรพระได้ครบทุกรูป เราเองนั้นเปิดรับบาตรตะกุกตะกัก เปิดฝาบาตรผิดๆถูกๆกลัวบาตรจะตกลงพื้นใส่หน้าโยมเสียจริง สุดท้ายปิดฝาบาตรรอโยมไหว้ทำความเคารพ จากนั้นเดินทางกลับวัดโดยไม่ให้พรใดๆตามธรรมเนียมปฏิบัติวัดหนองป่าพง เพราะสิ่งที่โยมทำนั้นมันเป็นพรในตัวอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่ในบทสวดให้พร เพราะทำบุญ ทำทานที่แท้จริงคือการรู้จักเสียสละ หรือละซึ่งความเห็นแก่ตัว ละซึ่งความตระหนี่

     พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก น้อยครั้งในช่วงชีวิตฆราวาสที่จะได้สัมผัสบรรยากาศยามเช้า ไอเย็นจากน้ำค้างบนยอดหญัา เคล้าไออุ่นผ่านเงาไม้ กลิ่นหอมจางๆของดอกไม้ ที่พัดพามากับสายลม กับก้อนเมฆที่พลิ้วไหวบนท้องฟ้าสีส้ม ภาพระหว่างทางการบิณฑบาตรครั้งแรกนี้มันช่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของธรรมชาติ หรือว่าความงดงามจากใจที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธา และนี่เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เราต้องจดจำ

เขมปญโญ


Saturday, July 5, 2014

เริ่มต้นที่ ความเรียบง่าย



เริ่มต้นที่ ความเรียบง่าย


ถ้าเราพูดถึงงานบวช หลายๆคนคงคิดถึงภาพพิธีรีตองมากมาย มีการแห่ขบวนโห่ร้องกันอึกทึก จัดเลี้ยงแขกเกลื่อด้วยอาหาร เครื่องดื่ม บ้างก็มีงานเลี้ยง มหรสพครึกครึ้นเสียงดังไปทั้งหมู่บ้าน แต่ทุกสิ่ง ทุกอย่างในวันนี้ที่วัดมาบจันทร์กลับปกติ เรายังค'ตื่นแต่เช้า ทำวัตร กวาดลานวัด ล้างเท้าพระ ทานข้าวเช้าตามปกติ นอกจากว่าวันนี้จะมีผู้คนมาทำบุญที่หอฉันมากกว่าปกติ แต่ก็ไม่ได้มีงานเลี้ยงพิเศษแต่อย่างใด ส่วนเราและเพื่อนผ้าขาวรวม 13 ชีวิตจำเป็นต้องปลีกตัวจากญาติๆมาเตรียมตัวที่โบสถ์ก่อนเวลา 11 โมง เพราะด้วยจำนวนคนที่มากจึงต้องเริ่มพิธีให้เร็วขึ้น เรานัดให้ญาติขึ้นไปรอที่โบสถ์เลยเพราะเกรงว่าถ้ามาสายกว่านี้การจราจรอาจจะติดขัด ที่จอดรถไม่มี พวกเราผ้าขาวต่างแยกย้ายกันเตรียมตัว เตรียมข้าวของ ซักซ้อมบทขานนาคอีกสักหน่อย จากนั้นใครคนไหนพร้อมแล้ว ญาติมาครบแล้ว ก็เดินวนรอบโบสถ์ 3 รอบอย่างเงียบๆ ไม่มีการโห่ร้องใดๆทั้งสิ้น เดินวนเสร็จแล้วจึงเข้ามาในโบสถ์กล่าวคำขอขมาพ่อ แม่ แล้วนั่งรอจนกว่าเพื่อนผ้าขาวจะมาครบ 13 คน และวัดนี้ไม่อนุญาตให้โปรยทานตามแบบงานบวชแบบไทยๆทั่วไป ในความเห็นส่วนตัวเห็นด้วยกับทางวัดที่ไม่มีการโปรยเหรียญทาน เพราะว่านอกจากจะลดความวุ่นวายได้ในระดับนึงแล้ว ยังเห็นว่ามันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลยกับการศึกษาธรรมะ แถมยังส่งเสริมให้คนโลภมากอยากเก็บเหรียญได้เยอะๆอีก ส่วนเจ้าภาพก็เสียเงินส่วนนี้โดยใช่เหตุ แต่ถ้าหากเจ้าภาพเตรียมมาแล้วก็สามารถนำทานส่วนนี้เก็บกลับไปหรือนำไปบริจาคที่กุฎิสำนักงานได้


เรานั่งรอสักพักหนึ่งจนนาคมาครบทั้ง 13 คน พร้อมทั้งพระอุปัชฌาย์(นิมนต์จากวัดเขายายชุม) และพระคู่อันดับ(นิมนต์จากวัดมาบจันทร์) ก็มาครบถ้วนแล้ว พิธีการจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่ก็ไม่ได้ราบเรียบเสียทีเดียว เพราะยังมีบางช่วง บางตอนที่ยังท่องผิดๆถูกๆอยู่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะท่องมาดีแล้วแค่ไหน วันจริงวันนี้ยิ่งตื่นเต้นคงต้องมีลืมกันบ้าง ยิ่งช่วงที่เราจะต้องทำพิธีกันเป็นคู่ ต้องเดินไปกลางโบสถ์แล้วกล่าวคำขานนาคแล้วช่วงนี้จะตื่นเต้นที่สุด “เกษา โลมา นขา ทันตา ตโจ ...” เราได้ยินประโยคนี้รวม 7 ครั้ง ท่านให้มองว่าผมที่เราโกนออกไป ผิวหนังที่ห่อหุ้มร่างกาย สิ่งต่างๆเหล่านีล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สวยไม่งาม ไม่อยากให้เรายึดติด (เรียกว่า ตจปัญจกกัมมัฏฐาน) เราไม่เพียงแค่โกนหัวแล้วห่มผ้าเหลืองเพื่อบอกใครๆว่าเป็นพระ สิ่งสำคัญคือการพิจารณาใจตัวเอง ให้รู้จักกับกิเลส ละละวางมันให้ได้ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นพระโดยสมบูรณ์ในเชิงพิธีการ แต่ภายในใจเรายังอยู่ห่างไกลจากคำว่า พระสุปฏิปัณโณ (พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ) ว่าแต่ตอนนี้เอาเพียงแค่ว่าจะห่มจีวรโดยลำพังได้อย่างไร